วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว



สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao People’s Democratic Republic)

ประเทศ สปป.ลาว เข้าร่วมเป็นสมาชิกของอาเซียนเป็นลำดับที่ 8 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 โดยเข้าเป็นประเทศอาเซียนพร้อมกับพม่า ลาวนับได้ว่าเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนประเทศเดียวที่ไม่มีทางออกทะเล แต่เป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมขนส่งและสำหรับการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในประเทศและส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

ข้อมูลทั่วไปของประเทศลาว

ธงชาติ

ผืนธงแบ่งตามแนวยาวเป็น 3 ส่วน โดยแถบตรงกลางจะเป็นสีน้ำเงิน กว้าง 2 ส่วน มีพระจันทร์ทรงกลมสีขาวอยู่กึ่งกลาง แถบด้านนอก 2 ด้าน มีสีแดง กว้างแถบละ 1 ส่วน เท่ากัน โดยสีต่างๆ ของธง มีความหมาย ดังนี้
  • สีแดง หมายถึง เลือดแห่งการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวลาว
  • สีน้ำเงิน หมายถึง ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของชาติ
  • พระจันทร์สีขาว หมายถึงเอกภาพของชาติ
  • สาเหตุที่มีดวงจันทร์ทรงกลมอยู่ตรงกลาง เพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงดวงจันทร์ลอยเด่นเหนือลำน้ำโขง

ตราสัญลักษณ์

                ตราสัญลักษณ์เป็นรูปวงกลม ด้านล่างมีรูปครึ่งกงจักรเป็นฟันเฟืองและโบว์อักษร "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" สองข้างล้อมด้วยรวงข้าวสุกเป็นรูปวงพระจันทร์และโบว์สีแดงเขียนอักษร "สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย เอกภาพ วัฒนาถาวรตรงกลางระหว่างสองปลายรวงข้าวมีรูปพระธาตุหลวง อยู่กลางรูปวงกลมมีหนทาง ทุ่งนา ป่าไม้และเขื่อนไฟฟ้าน้ำตก


ดอกไม้ประจำชาติ

                ดอกจำปาลาว (Dok Champa) คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ ดอกลีลาวดี หรือ ดอกลั่นทม โดยดอกจำปาลาวมักมีสีสันหลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นเพียงสีขาวเท่านั้น เช่น สีชมพู สีเหลือง สีแดง หรือสีโทนอ่อนต่าง ๆ โดยดอกจำปาลาวนั้นเป็นตัวแทนของความสุขและความจริงใจ จึงนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อประดับประดาในงานพิธีต่าง ๆ รวมทั้งใช้เป็นพวงมาลัยเพื่อรับแขกอีกด้วย

คำขวัญ

สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย เอกภาพ วัฒนาถาวร
ชื่อภาษาไทย : สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Lao People’s Democratic Republic
ที่ตั้ง : ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)
เมืองหลวง : กรุงเวียงจันทน์
ภาษาราชการ : ภาษาลาว (Lao)
สกุลเงิน : กีบ (Kip, LAK)
พื้นที่ : 91,429 ตารางไมล์ (236,800 ตารางกิโลเมตร)
จำนวนประชากร : 6,695,166 คน
การปกครอง : ระบอบสังคมนิยม มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้บริหารสูงสุด
Time Zone : UTC+7 ใช้เวลาเดียวกับประเทศไทย
GDP : 20,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้ต่อหัวประชากร : 3,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

รหัสโทรศัพท์ (IDC) : +856

ประวัติ

ลาว (ลาว: ລາວ) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลาว: ສາທາລະນະລັດປະຊາທິປະໄຕປະຊາຊົນລາວ, อักษรย่อ: ສປປ.ລາວ) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร มีพรมแดนติดต่อกับจีน ทางทิศเหนือ ติดต่อกับพม่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับเวียดนามทางทิศตะวันออก ติดต่อกับกัมพูชาทางทิศใต้ และติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันตก กั้นด้วยแม่น้ำโขงเป็นบางช่วง

ภูมิศาสตร์

ประเทศลาวเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่บนใจกลางของคาบสมุทรอินโดจีน ระหว่างละติจูดที่ 14 - 23 องศาเหนือ ลองติจูดที่ 100 - 108 องศาตะวันออก มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 236,800 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นภาคพื้นดิน 230,800 ตารางกิโลเมตร ภาคพื้นน้ำ 6,000 km² โดยลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เนื่องด้วยตลอดแนวชายแดนของประเทศลาว ซึ่งมีความยาวรวม 5,083 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ เรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้
  • ทิศเหนือ ติดกับประเทศจีน
  • ทิศตะวันออก ติดกับประเทศเวียดนาม (2,130 กิโลเมตร)
  • ทิศใต้ ติดกับประเทศไทย (1,754 กิโลเมตร) และประเทศกัมพูชา (541 กิโลเมตร)
  • ทิศตะวันตก ติดกับประเทศไทย (1,754 กิโลเมตร) และประเทศพม่า (235 กิโลเมตร)

ความยาวพื้นที่ประเทศลาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ยาวประมาณ 1,700 กว่ากิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดกว้าง 500 กิโลเมตร และที่แคบที่สุด 140 กิโลเมตร เนื้อที่ทั้งหมด 236,800 ตารางกิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ

ภูมิประเทศของลาวอาจแบ่งได้เป็น 3 เขต คือ
เขตภูเขาสูง เป็นพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 1,500 เมตรขึ้นไป พื้นที่นี้อยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศ
เขตที่ราบสูง คือพื้นที่ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,000 เมตร ปรากฏตั้งแต่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบสูงเมืองพวนไปจนถึงชายแดนกัมพูชา เขตที่ราบสูงนี้มีที่ราบสูงขนาดใหญ่อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ ที่ราบสูงเมืองพวน (แขวงเชียงขวาง), ที่ราบสูงนากาย (แขวงคำม่วน) และที่ราบสูงบริเวณ (ภาคใต้)
เขตที่ราบลุ่ม เป็นเขตที่ราบตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำต่าง ๆ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในเขตพื้นที่ทั้ง 3 เขต นับเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ แนวที่ราบลุ่มเหล่านี้เริ่มปรากฏตั้งแต่บริเวณตอนใต้ของแม่น้ำงึม เรียกว่า ที่ราบลุ่มเวียงจันทน์ ผ่านที่ราบลุ่มสุวรรณเขต ซึ่งอยู่ตอนใต้เซบั้งไฟและเซบั้งเหียง และที่ราบจำปาศักดิ์ทางภาคใต้ของลาว ซึ่งปรากฏตามแนวแม่น้ำโขงเรื่อยไปจนจดชายแดนประเทศกัมพูชา
ทั้งนี้ เมื่อนำเอาพื้นที่ของเขตภูเขาสูงและเขตที่ราบสูงมารวมกันแล้ว จะมากถึง 3 ใน 4 ของพื้นที่ประเทศลาวทั้งหมด โดยจุดที่สูงที่สุดของประเทศลาวอยู่ที่ภูเบี้ย ในแขวงเชียงขวาง วัดความสูงได้ 2,817 เมตร (9,242 ฟุต)
ประเทศลาวมีแม่น้ำสายสำคัญอยู่หลายสาย โดยแม่น้ำซึ่งเป็นสายหัวใจหลักของประเทศ คือ แม่น้ำโขง ซึ่งไหลผ่านประเทศลาวเป็นระยะทาง 1,835 กิโลเมตร แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำสำคัญทั้งในด้านเกษตรกรรม การประมง การผลิตพลังงานไฟฟ้า การคมนาคมจากลาวเหนือไปจนถึงลาวใต้ และการใช้เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศลาวกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ แม่น้ำสายสำคัญของลาวแห่งอื่น ๆ ยังได้แก่
  • แม่น้ำอู (พงสาลี-หลวงพระบาง) ยาว 448 กิโลเมตร
  • แม่น้ำงึม (เชียงขวาง-เวียงจันทน์) ยาว 353 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซบั้งเหียง (สุวรรณเขต) ยาว 338 กิโลเมตร
  • แม่น้ำทา (หลวงน้ำทา-บ่อแก้ว) ยาว 523กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซกอง (สาระวัน-เซกอง-อัตปือ) ยาว 320 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซบั้งไฟ (คำม่วน-สุวรรณเขต) ยาว 239 กิโลเมตร
  • แม่น้ำแบ่ง (อุดมไชย) ยาว 215 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซโดน (สาระวัน-จำปาศักดิ์) ยาว 192 กิโลเมตร
  • แม่น้ำเซละนอง (สุวรรณเขต) ยาว 115 กิโลเมตร
  • แม่น้ำกะดิ่ง (บริคำไชย) ยาว 103 กิโลเมตร
  • แม่น้ำคาน (หัวพัน-หลวงพระบาง) ยาว 90 กิโลเมตร

การเมืองการปกครอง

งานเฉลิมฉลองวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครบรอบ 30 ปี วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2548
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (ทางการลาวใช้คำว่า ระบอบประชาธิปไตยประชาชน) โดยมีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นองค์กรชี้นำประเทศ ซึ่งพรรคนี้เริ่มมีอำนาจสูงสุดตั้งแต่ลาวเริ่มปกครองในระบอบสังคมนิยมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ประธานประเทศ (ประธานาธิบดี) ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวคนปัจจุบัน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี คือ พลโทจูมมะลี ไซยะสอน (ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวอีกตำแหน่งหนึ่ง) ส่วนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือนายทองสิง ทำมะวง

เศรษฐกิจ

ภาวะเศรษฐกิจของประเทศลาวมีพัฒนาการที่ดีตามลำดับ โดยในช่วง 20 ปีนับตั้งแต่ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีการตลาดเมื่อปี 2529 ประเทศลาวมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปี ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2529 เป็น 491 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2548 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 10 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าเป็นสาขาหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ
อย่างไรก็ดี ลาวยังคงประสบปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ที่สำคัญได้แก่ ปัญหาราคาน้ำมัน ที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาการขาดดุลการค้าในอัตราสูง ค่าเงินกีบไม่มีเสถียรภาพ การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย และปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง
ทรัพยากรสำคัญของลาว ได้แก่ ไม้ ดีบุก ยิปซัม ตะกั่ว หินเกลือ เหล็ก ถ่านหินลิกไนต์ สังกะสี ทองคำ อัญมณี หินอ่อน น้ำมัน และแหล่งน้ำผลิตไฟฟ้า

ประชากร

จากสถิติในปี พ.ศ. 2548 (ตามข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศของไทย) ประเทศลาวมีประชากรรวม 6,068,117 คน ประกอบด้วยชนชาติต่างๆ หลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งในภาษาลาวจะเรียกรวมกันว่า "ประชาชนบรรดาเผ่า" สามารถจำแนกได้เป็น 68 ชนเผ่าโดยประมาณ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ตามถิ่นที่อยู่อาศัย ดังนี้
ลาวลุ่ม หมายถึงชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบ ส่วนใหญ่ได้แก่คนเชื้อชาติลาว ภูไท ไทดำ ไทลื้อ ฯลฯ ใช้ภาษาลาวหรือภาษาตระกูลภาษาไทเป็นภาษาหลัก ประชาชนกลุ่มนี้มีอยู่ร้อยละ 68 ของจำนวนประชากรทั้งหมดและอาศัยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถือว่าเป็นกลุ่มชาวลาวที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศ
ลาวเทิง หมายถึงชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบสูง เช่น ชาวบรู มะกอง งวน ตะโอย ตาเลียง ละเม็ด ละเวน กะตัง ฯลฯ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ เช่น แขวงจำปาสัก แขวงเซกอง แขวงอัตตะปือ คิดเป็นร้อยละ 22 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
ลาวสูง หมายถึงชาวลาวที่อาศัยอยู่ในเขตภูเขาสูง เช่น ชาวม้ง เย้า มูเซอ ผู้น้อย และชาวเขาเผ่าต่างๆ ส่วนมากอาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของลาว เช่น แขวงหลวงพระบาง แขวงเชียงขวาง และตามแนวตะเข็บชายแดนภาคเหนือ ชาวลาวกลุ่มนี้คิดเป็นจำนวนร้อยละ 9 ของจำนวนประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีชาวลาวเชื้อสายเวียดนาม ชาวลาวเชื้อสายจีน รวมทั้งชาวต่างชาติอื่นๆ ในลาวคิดเป็นร้อยละ 2 ของจำนวนประชากรทั้งหมดด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น