ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand)
ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand)
ประเทศไทย
นอกจากจะเป็นสมาชิก 5 ชาติแรกและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนแล้ว
ยังเป็นเจ้าภาพในการลงนามเพื่อสร้างข้อตกลงในการสร้างกลุ่มอาเซียนขึ้นมาด้วย
โดยการลงนามนี้เรียกว่า ปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok
Declaration) ซึ่งลงนามกันเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ที่พระราชวังสราญรมย์
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกก่อตั้ง 5 ทั้งประเทศ
ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่ากรุงเทพคือบ้านเกิดของอาเซียน
ข้อมูลทั่วไปของประเทศไทย
ธงชาติ
ธงชาติไทย ประกอบด้วย 3
สีหลัก ได้แก่ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน มีการแบ่งเป็นริ้วจำนวน 5 แถบ
ซึ่งแถบในสุดเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า
ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนด้านล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ สีแดง หมายถึง ชาติ สีขาว หมายถึง ศาสนา และสีน้ำเงิน หมายถึง
พระมหากษัตริย์
ตราสัญลักษณ์
ตราแผ่นดินของไทย คือ
พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ซึ่งเป็นเทพพาหนะของพระนารายณ์
ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจแห่งพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของชาติและเป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ตามแนวคิดสมมุติเทพ โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. 2436 เป็นต้นมา แต่มาใช้อย่างเต็มที่แทนตราแผ่นดินเดิมทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. 2453
ดอกไม้ประจำชาติ
ดอกราชพฤกษ์ (Ratchaphruek) ที่มีสีเหลืองสวยสง่างาม
เมื่อเบ่งบานแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่น ถือเป็นสัญลักษณ์ของความมีเกียรติยศศักดิ์ศรี
ซึ่งชาวไทยหลายคนรู้จักกันดีในนามของ ดอกคูน โดยมีความเชื่อว่าสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์คือสีแห่งพระพุทธศาสนาและความรุ่งโรจน์
รวมทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีปรองดองของคนในชาติอีกด้วย
โดยดอกราชพฤกษ์จะเบ่งบานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์–พฤษภาคม
มีจุดเด่นเวลาเบ่งบานคือการผลัดใบออกจนหมดต้น เหลือไว้เพียงแค่สีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์เท่านั้น
ชื่อภาษาไทย : ราชอาณาจักรไทย
ชื่อภาษาอังกฤษ : The Kingdom of Thailand
ที่ตั้ง : ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(ASEAN)
เมืองหลวง : กรุงเทพมหานคร (Bangkok)
ภาษาราชการ : ภาษาไทย (Thai)
สกุลเงิน : บาท (Thai Baht, THB)
พื้นที่ : 198,115 ตารางไมล์ (513,115
ตารางกิโลเมตร)
จำนวนประชากร : 64,785,909 คน
การปกครอง :
ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
Time Zone : UTC+7
GDP : 673,725
ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้ต่อหัวประชากร : 9,874
ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
รหัสโทรศัพท์ (IDC) : +66
ประวัติ
ประเทศไทยหรือชนชาติไทยมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน
และในแผ่นดินสุวรรณภูมิแห่งนี้ก็มีอาณาจักรโบราณอยู่มากมาย เช่น อาณาจักรขอมโบราณ
อาณาจักรทวาราวดี และอาณาจักรศรีวิชัย เป็นต้น ตามพงศาวดารของไทย
ชนชาติไทยมีประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปจนถึงอาณาจักรโยนกและน่านเจ้า แต่หลักฐานต่างๆไม่ชัดเจนนัก
ดังนั้นเราจึงนับประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยจากหลักฐานที่ชัดเจนเท่านั้น
นั่นก็คือนับตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นมา
นับจากอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นมา
ประเทศไทยได้ผ่านยุคหรืออาณาจักรต่างๆมาแล้ว 4 ยุค ดังนี้
1. สมัยอาณาจักรสุโขทัย
อาณาจักรสุโขทัยมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน
มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 1792 ถึง พ.ศ. 1981 รวม 189 ปี
ก่อนที่สุดท้ายจะถูกยุบรวมกับอาณาจักรอยุธยา
อาณาจักรสุโขทัยถูกสถาปนาขึ้นโดยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
และถือว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของชาติไทย
อาณาจักรสุโขทัยมีกษัตริย์ปกครองทั้งหมด 8 พระองค์
รวมถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราชผู้ทรงคิดค้นอักษรไทยด้วย
2. สมัยอาณาจักรอยุธยา
อาณาจักรอยุธยาได้เริ่มสถาปนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1893 ถึง พ.ศ. 2310
โดยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง โดยมีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน
ต่อมาภายหลังได้ผนวกเอาอาณาจักรสุโขทัยเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งด้วย
อาณาจักรอยุธยาเจริญรุ่งเรืองอยู่ 417 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองทั้งหมด 33
พระองค์ โดยเสียกรุงให้กับพม่าจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
เมื่อปี พ.ศ.2112 ต่อมาสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ
(อยุธยาตกเป็นประเทศราชของพม่าเป็นเวลา 15 ปี)
ต่อมาอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอีกครั้งในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ เมื่อปี พ.ศ.
2310 และครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้เวลา 6 เดือนในการกอบกู้เอกราชคืน
3. สมัยกรุงธนบุรี
ภายหลังกอบกู้เอกราชให้กับกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงย้ายเมืองหลวงจากอยุธยาลงมายังเมืองธนบุรี
เนื่องจากอยู่ในชัยภูมิที่ดีกว่า
ประกอบกับกรุงศรีอยุธยาได้รับความเสียหายหนักจากการโจมตีของพม่า
จนยากจะบูรณะให้งดงามดังเดิมได้ อาณาจักรกรุงธนบุรีตั้งอยู่ ณ เมืองธนบุรี
(ปัจจุบันถูกผนวกรวมกับจังหวัดพระนครแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงเทพมหานคร
แต่คนส่วนใหญ่ยังเรียกส่วนที่เคยเป็นจังหวัดธนบุรีว่า ฝั่งธนบุรีหรือฝั่งธน)
ระยะเวลาการตั้งอยู่ของอาณาจักรธนบุรีเพียงแค่ 15 ปี และมีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว
4. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ภายหลังการสิ้นสุดลงของอาณาจักรกรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2325
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงให้ย้ายเมืองหลวงข้ามฝั่งมายังฝั่งพระนครและทรงสร้างเมืองหลวงใหม่
ซึ่งก็คือพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน นับจนถึงปัจจุบันกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ
232 ปี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา
และนับจนถึงปัจจุบันมีพระมหากษัตริย์ครองราชย์สมบัติเป็นพระองค์ที่ 9
หรือรัชกาลที่ 9 ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์รมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ
ในหลวงองค์ปัจจุบันนั่นเอง โดยทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2489
และทรงครองราชย์มาจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 68
นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในโลก
ประชากรเชื้อชาติและภาษา
ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ณ สิ้นปี พ.ศ. 2555
ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 64,456,695 คน แบ่งเป็นชาย 31,700,727 คน และหญิง
32,755,968 คน
ประเทศไทยถือได้ว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดประเทศหนึ่ง
ประชากรไทยมีพื้นเพมาจากเชื้อชาติดังนี้ ไทยแท้ (หรือไทยสยาม) ไทยเชื้อสายลาว
ไทยเชื้อสายมอญ ไทยเชื้อสายเขมรชาวไทยเชื้อสายจีน ไทยเชื้อสายมลายู ไทยเชื้อสายชวา
(หรือแขกแพ) ไทยเชื้อสายจาม (หรือแขกจาม) ไทยเชื้อสายเวียดนาม ไทยเชื้อสายพม่า
และไทยเชื้อสายชาวเขาเผ่าต่างๆ เช่น ชาวกะเหรี่ยง ลีซอ ชาวม้ง ส่วย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีแรงงานต่างด้าวอีกไม่น้อยกว่า 3 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศไทย
โดยเป็นแรงงานถูกกฎหมายเพียง 1,400,000 คน ที่เหลือเป็นแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาราชการ แต่ในภาษาพูดประชาชนนิยมใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสารกัน
ภาษาถิ่นในประเทศไทยมีนับร้อยภาษา โดยที่ภาษาถิ่นที่มีผู้ใช้มาก เช่น ภาษาไทยเหนือ
หรือ ภาษาคำเมือง ภาษาไทยอีสาน ภาษาไทยใต้ ภาษายาวี ภาษาลาว (ลาวโซ่ง ลาวพวน)
ภาษาเขมร ภาษาไทยโคราช ภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาจีนกลาง ภาษามอญ ภาษาชาวเขาต่างๆ
(กะเหรี่ยง ขมุ ม้ง มูเซอ ลีซอ) ภาษามอแกน และภาษาประจำถิ่นอื่นๆ
ศาสนาในประเทศไทย
ในประเทศไทย
ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพที่จะนับถือศาสนาใดก็ได้ตามแต่ศรัทธาของตน
โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนา
ศาสนาที่มีผู้นับถือมากและได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาลและองค์พระมหากษัตริย์ได้แก่
- ศาสนาพุทธ ในประเทศไทยมีผู้นับศาสนาพุทธ 93.83%
- ศาสนาอิสลาม ในประเทศไทยมีผู้นับศาสนาอิสลาม 4.56%
- ศาสนาคริสต์ ในประเทศไทยมีผู้นับศาสนาคริสต์ 0.80%
- ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในประเทศไทยมีผู้นับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 0.086%
- ศาสนาซิกข์ ในประเทศไทยมีผู้นับศาสนาซิกข์ 0.011%
หมายเหตุ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ
การเมืองการปกครอง
ในปัจจุบันประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น
ประเทศมาเลเซีย ประเทศกัมพูชา และอีกหลายๆประเทศในยุโรป
โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและทรงใช้อำนาจผ่าน 3 ทาง หรือ 3 ฝ่าย
กล่าวคือ ทรงใช้อำนาจบริหารผ่านทางนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา และทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านทางศาลยุติธรรม
ในอดีตประเทศไทยเคยใช้การปกครองระบอบอื่นมาแล้ว 2 ระบบคือ
ระบอบพ่อปกครองลูกซึ่งใช้ในสมัยอาณาจักรสุโขทัย
ในการปกครองระบอบนี้พระมหากษัตริย์จะเปรียบเสมือนพ่อและไพร่ฟ้าประชาชนจะเปรียบเสมือนลูก
จากนั้นเปลี่ยนมาใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในสมัยอาณาจักรอยุธยาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือล้นเกล้ารัชกาลที่
7 แห่งจักรีบรมราชวงศ์ ในระบอบนี้จะเปรียบพระมหากษัตริย์เหมือนสมมุตติเทพ
และเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2475 มาจนถึงปัจจุบัน
เศรษฐกิจของประเทศไทย
ประเทศไทยมีขนาดทางเศรษฐกิจและดัชนีชี้วัดฐานะทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจดังนี้
- ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 11.38
ล้านล้านบาท สูงขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2555
- อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2556 เท่ากับ 2.9%
- รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร $7,130/คน/ปี หรือเท่ากับ 228,160
บาท/คน/ปี คิดเป็น 19,013 บาท/คน/เดือน สูงเป็นอันดับที่ 4
ในอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย
- ประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 167,545.84 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
(ข้อมูลถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 – ธนาคารแห่งประเทศไทย)
- ตลาดหุ้นไทย มีขนาด Market Cap. 13,061,940.80
ล้านบาท (ข้อมูลถึงวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2557 – ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 2.2% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 1.0% (ข้อมูลปี พ.ศ.
2556 – ธนาคารแห่งประเทศไทย)
- อัตราการว่างงาน 0.6% (ข้อมูลปี พ.ศ.2556 – สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
- ผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม 12,604,890 คน
(รวมทั้งแบบภาคบังคับและแบบสมัครใจ – ข้อมูลถึง 30
เมษายน 2557)
- ยอดส่งออก 553,000 ล้านบาท ยอดนำเข้า 606,558 ล้านบาท ขาดดุลสุทธิ
53,558 ล้านบาท (ข้อมูลถึง 30 เมษายน 2557 – กระทรวงพานิชย์)
- ยอดหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลไทย 3,884,155 ล้านบาท (ข้อมูลถึง 30
เมษายน 2557 – ธนาคารแห่งประเทศไทย)
- ยอดหนี้สาธารณะ 5,583,828.29 ล้านบาท (ข้อมูลถึง 30 เมษายน 2557 – สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น